Translate

17 พ.ย. 2556

ของขึ้นชื่อจังหวัด สตูล


ชาชัก



       ของขึ้นชื่อของสตูล และเป็นจุดเริ่มต้นของชาชักแห่งแรกในไทย โดยคุณวรรณา แช่ตัน เจ้าของร้านขอบคุณสตูลคิดหาเครื่องดื่มที่เหมาะทานคู่กับโรตี ฝึกชงชาชักที่ได้ดูและชิมในมาเลเซีย มาพัฒนาสูตรในแบบของตนเอง ชาชักสตูลนิยมทานคู่กับโรตีแกงแพะ แกงไก่ หรือแกงเนื้อ เพิ่มรสชาติในการดื่มชาชักให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

ข้าวเหนียวอัดหรือเหนียวเขียว

       เป็นขนมพื้นเมืองของชาวจีนในสตูล โดยเฉพาะใน ต.ฉลุง และ ต.พิมาน อ.เมืองสตูล เป็นข้าวเหนียวผสมน้ำดอกอัญชัญนึ่งกับ กะทิ เกลือ และสารส้ม แล้วอัดข้าวเหนียวลงในลังไม้ให้แน่น จนได้ข้าวเหนียวอัดตามขนาดของลังไม้ นำมาหั่นหรือตัดเป็นชิ้นตามที่ต้องการ รับประทานกับสังขยา

แกงตอแมะห์


         มาจากภาษามลายูว่า ตูมิห์ (TUMTH) หมายถึง การผัดเครื่องแกงคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำกะทิสดหรือน้ำมัน เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมุสลิม ในมาเลเซีย และมาเป็นอาหารพื้นเมืองชาวสตูล รับประทานกับข้าวมัน หรือโรตี ทำจาก ปลา, กะทิ, มะขามเปียก, ขมิ้น, พริกแห้ง, หอมแดง, เครื่องเทศและสมุนไพรอีกหลายชนิด

ปัสมอส

       อาหารท้องถิ่น เสน่ห์ของเมืองสตูล เนื่องจากสตูลนั้น ร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมการกินจึงเป็นอาหารพื้นถิ่นที่ค่อนข้างหลากหลาย มีอาหารมากมายให้ได้ลิ้มลอง ต่อให้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่รสนิยมการกินของคนสตูลก็ยังคงนิยมทานอาหารแบบท้องถิ่นอยู่ดี เราจึงเปลี่ยนบรรยากาศพาท่านผู้อ่านแวะทานอาหารท้องถิ่นที่คนสตูลนิยมทานกันมากและร้านที่จะพาไปนั้นรับรองได้ว่าเป็นที่รู้จักของชาวสตูลเป็นอย่างดี อาหารที่จะพาไปแนะนำนี้ชื่อทางภาษาถิ่นว่า ปัสมอสหรือภาษาไทยเรียกว่า สลัดแขกประกอบด้วย ไก่ฉีก เนื้อแดง ไข่ต้ม แตงกวา กุ้งทอด ราดน้ำด้วย กั๊วคล้ายๆกับน้ำพริกของขนมจีน ส่วนในด้านรสชาตินั้นทางทีมงานได้ลองชิมต้องยกนิ้วให้เลยคะ ว่าสมชื่อราคาคุยเลยทีเดียว เพราะรสชาติของน้ำกั๊วนั้นทั้งหวานทั้งมันกลมกล่อมเข้ากับเครื่องเคียงที่จัดตั้งเรียงรายอยู่ในจาน ด้านคุณค่าทางอาหารก็ครบสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว คุณนอริยะ นิสาและ เจ้าของร้านโซเฟีย 1 เล่าให้ฟังว่า เปิดร้านขายอาหารมาเกือบ 30 ปีแล้ว ลูกค้านิยมสั่งปัสมอสมาทานทุกครั้ง ลูกค้าบอกว่ารสชาติปัสมอสของร้านโซเฟียจะแตกต่างกับร้านอื่น ในรสชาติซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่ได้มาจากบรรพบุรุษ คนสตูลถ้านึกอยากทานปัสมอสก็ต้องมาร้านโซเฟีย

บุหงาปูดะ


          เป็นภาษามลายู คำว่า บุหงา แปลว่า ดอกไม้ ส่วนปุดะ แปลว่า ดอกลำเจียก ดังนั้นถ้าจะเรียกขนมชนิดนี้ให้ง่ายขึ้น ก็ให้เรียกว่า ขนมดอกลำเจียก ขนมบุหงาปุดะเป็นขนมที่มีรสหวาน กลิ่นหอม หน้าตาน่ารับประทาน เป็นขนมท้องถิ่นของชาวจังหวัดสตูล นิยมทำกินกันในเทศกาลฮารีรายอ (บางที่ใช้ฮารีรายา) ซึ่งก็คือวัดอีด หรือวันตรุษอีด หรือเรียกว่าวันใหญ่ก็ได้ เป็นวันละศีลอดของชาวมุสลิม โดยจะจัดเป็นงานเลี้ยงรื่นเริง เฉลิมฉลอง ถือเป็นงามมงคลสำหรับคนมุสลิม โดยในงานจะมีการทำขนมบุหงาปุดะมาเลี้ยงต้อนรับ หรือทำกินกันเองในครอบครัว โดยในอดีต ขนมบุหงาปุดะจะหากินได้ตามเทศกาล หรืองานมงคลเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถหาได้ตามท้องถิ่นที่มีชาวมุสลิมอาศัย ขายกันเป็นของฝากติดโอท็อปเสียด้วย ซึ่งเจ้าขนมบุหงาปุดะนี้มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ทำจากมะพร้าวทึนทึก แป้งข้าวเหนียว น้ำตาล เกลือ น้ำ และกะทิ หซินะ หวันตะหลา กำลังสาละวนอยู่หน้าเตา โดยมีกระทะก้นลึกตั้งไฟอ่อนๆ ร่อนแป้งข้าวเหนียวที่ผ่านการคลุกเคล้ากับน้ำ และเกลือป่น โดยแป้งต้องไม่นิ่ม และไม่แข็งเกินไป นำไปใส่ในตะแกรงร่อนเป็นผงลงกระทะ โดยให้แป้งเกาะกันเป็นแผ่นบางๆ ส่วนสีสันสดใสของไส้นั้น ได้มาจากมะพร้าวสดขูด นำมาคั่วผสมกับน้ำตาล แล้วเติมสีสันด้วยอัญชัน ใบเตย ฯลฯ เมื่อแป้งได้ที่ก็ใส่ไส้ลงไป ห่อออกมาแล้วรูปร่างหน้าตาเหมือนหมอนใบสวยในปลอกหมอนสีขาวพร้อมเสิร์ฟ รสชาตินั้นหวานกำลัง หอมกะทิและมะพร้าว ขนมบุหงาปุดะจัดเป็นของดีขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล หากินที่อื่นเห็นจะลำบาก ถ้ามีโอกาสมาเยือนถิ่นดินสตูลแล้ว ควรลองกินดูสักครั้ง ถ้าชอบจะซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝาก คนที่นี่คงจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น